tripgether.com

นาขั้นบันได ขุนเขา ไอหมอก กลิ่นดิน กลิ่นน้ำ แสงดาว และตะวัน – บ้านป่าบงเปียง – เชียงใหม่

9,543 ครั้ง
26 มี.ค. 2560

สะท้อนแสง ท้องนาเสมอฟ้า นาขั้นบันไดป่าบงเปียง

ความเขียว และชุ่มฉ่ำในหน้าฝนที่แม้แต่ปลายยอดข้าวยามเช้าก็ยังสร้างความประทับใจได้ถ้าตั้งใจจะมองให้มันรู้สึกเป็นสุขแก่เราเอง จากที่มาที่ทำให้ถึงที่ไป ความไม่รู้ ด้อยประสบการณ์ ไม่เคยเจอ แทนที่จะทำให้มนุษย์บางพวกนั้นกลัว แต่กลับทำให้ใคร่รู้เมื่อสลัดความกังวลเหล่านั้นออกไปได้ ยิ่งผสมกับการเฝ้ารอ รอเวลาที่จะได้พบสิ่งที่อยากรู้จัก ก็ยิ่งทวีความรู้สึกมากเป็นหลายเท่า “อยากเจอเหลือเกิน นาขั้นบันไดสวย ๆ ในหน้าฝน จะไปดูให้เห็นกับตาตั้งแต่นาน้ำ ไปจนนาเขียว และนาสีทอง เอาให้ครบเลยทีเดียว” ผมเผลอปฏิญาณกับตนเองอย่างไม่ตั้งใจ อาจจะดูเหมือนโอเวอร์ แต่ผมเฝ้ารอสิ่งเหล่านี้ที่ไม่เคยเห็นด้วยตาตัวเองจริง ๆ ซักครั้ง ผมรู้ดีถึงเสน่ห์ของธรรมชาติ ความเขียว และความประทับใจจากการเดินทาง จึงไม่แปลกถ้าใครเปิดใจเดินทางจริงจังมากขึ้น แล้วมีทริปที่เฝ้ารออยู่จะรู้สึกเฝ้ารอแบบผม

YAMAHA M-Slaz หลังจากผ่านการล้มมาแล้ว 2 รอบ ขึ้นวันใหม่ในบ้านป่าบงเปียงก็ขี่ออกมาสำรวจเส้นทางจุดอื่น และตระเวณไปถ่ายรูปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ใกล้เคียงยามเช้า การเดินทางผมยังคงใช้มอเตอร์ไซค์คู่ YAMAHA M-Slaz 150 cc. เหมือนเดิม แต่จะไม่ใช้กระเป๋าข้าง ถึงแม้ว่าจะพกเต็นท์ และถุงนอนไปด้วยก็ตาม เพราะกระเป๋าใบใหม่ของผมสามารถจุดสิ่งของเครื่องใช้ได้ครบ โดยแยกกระเป๋าลูกที่ใส่เลนส์ และโน๊ตบุ๊กไปใส่กล่องหลัง ส่วนกล่องใส่กระเป๋ากล้องสะพายพาดไหล่ระหว่างขับขี่ไปด้วย ก็เผื่อจะได้จอดรถถ่ายรูประหว่างทางที่มักจะเจอวิวถูกใจเป็นประจำ ชุ่มฉ่ำข้ามจังหวัด

แผนการเดินทางถูกว่างไว้แล้วแต่แรก เลือกวันจันทร์เหมือนเกือบทุกทริป เพราะเป็นวันที่สถานที่ท่องเที่ยวนั้นน่าจะสงบ มีนักท่องเที่ยวน้อยที่สุด เปิดโอกาสให้ผมเข้าถึงธรรมชาติ และผู้คนในพื้นที่ได้มากกว่า 25 กรกฎาคม 2559 วางแผนไว้ เที่ยงคืน แต่ออกจริง ๆ ก็ตอน 01.00 น.นั้นแหละ แต่ไม่เป็นไร เวลาที่กำหนดนี่ เผื่อไว้สำหรับทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำอะไรช้าจนออกเดินทางช้า แวะถ่ายรูปข้างทาง หลบฝน หลง หรือติดขัดจนไม่สามารถเดินทางต่อได้ เพราะฉะนั้น ถึงที่หมายก่อนค่ำแน่นอน โดยกะไว้ว่าถ้าไม่ติดปัญหา และไม่แวะถ่ายรูประหว่างทางบ่อยเกินไป ก็คงจะถึงที่หมายช่วง 13.00 น.

เส้นทางโดยรวมจากกรุงเทพสู่บ้านป่าบงเปียงในเชียงใหม่ที่วางแผนไว้แบบไม่รู้อะไรมากนัก กรุงเทพ ใช้เส้นทางไปทางบางแคสู่ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง ลำพูน และเข้าเชียงใหม่ทางอำเภอจอมทองวิ่งออกจากจอมทองมาถนนหมายเลข 1192 ก่อนจะออกจากทางหลวงไปตามเส้นทางหมู่บ้านที่ผมไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรเพื่อไปถึงบ้านป่าบงเปียง ผมรู้ดีว่าเส้นทางก่อนถึงหมู่บ้านป่าบงเปียงนั้นไม่ใช่เส้นทางที่ดี แต่ก็ได้ข่าวว่าได้รับการปรับปรุงหลายจุดแล้ว ถึงจะไม่ทั้งหมด แต่ความชะล่าใจ และความทะนงตัวมากเกินไป คิดว่าก็น่าจะเอาอยู่ และต่อให้มีปัญหาจริง ๆ มันก็จะเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจอีกอย่างในการเดินทาง

แต่ไม่พ้นบางแคดี ฝนก็เทลงมาแบบห่าใหญ่ ชนิดที่ว่าไม่ทันได้จอดใส่เสื้อกันฝน หรือเปิดผ้าคลุมกันฝนให้กระเป๋ากล้องเลย เพราะฝนตก ก็หนักจนเละแทบจะทันที ทำได้แค่จอดแบบเปียก ๆ แล้วเอาผ้าคลุมกันฝนให้กระเป๋ากล้องอย่างเดียว ส่วนกระเป๋าใบใหญ่ที่แพ็คไว้ตรงเบาะคนซ้อนนั้น ผมวัดใจ อยากรู้เหมือนกันว่าจะกันน้ำได้แค่ไหน ซึ่งน่าแปลกว่า มันกันได้ดี ถึงจะรู้สึกว่าภายในจะชื้น ๆ นิด ๆ ก็ตาม แต่ตอนขากลับมากรุงเทพก็เปียกฝนนิดหน่อย แบบฝนปอย ๆ ต่อเนื่อง ก็เปียกชื้นภายในเหมือนกัน ทั้งที่น่าจะกันได้หมดถ้าแค่ปอย ๆ

จากบางแค ฝนตกอย่างหนักได้พักใหญ่ก็เริ่มเบาบางแต่ไม่หยุด กว่าฝนจะหยุดจริง ๆ ก็เกือบเข้านครสวรรค์แล้ว ผมขี่ตากฝนมาตลอด ไม่กลัวว่าจะไม่สบาย เพราะเสื้อผ้าที่ใส่นั้นปกปิดร่ายกายค่อนข้างครบ แต่อาจจะไม่สบายได้ถ้าปล่อยให้ร่างกายเย็น ๆ แบบนี้ต่อไป จึงจอดรถพักที่ปั้มน้ำมันในชัยนาท แถวอำเภอมโนรมย์ช่วงก่อน 06.00 น. ถอดผ้าปอกแขนออก เพราะมันทำให้รู้สึกชื้นแฉะมากขึ้นไปอีก แต่เสื้อผ้าไม่ได้เปลี่ยน ยังคงเปียกเหมือนเดิม แต่ร่างกายก็อุ่นขึ้นมากเพราะไม่ได้โดนลมปะทะจากการขี่มอเตอร์ไซค์

วิวยามเช้าน่าประทับใจเหลือเกิน มีโอกาสผมจะแวะมาที่นี่อีก แบบมาถ่ายแสงเช้าแบบหามุมเต็ม ๆ ในพื้นที่แถวนี้แบบตั้งใจไปเลย (พิกัด)

พักได้นานพอสมควรจึงเริ่มสังเกตุรอบตัวว่าพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น ท้องฟ้าหน้าปั้มปรากฎเป็นสีม่วงสวยงามมาก แต่เตรียมตัวไม่ค่อยทัน รีบเดินมาหน้าปั้มก็พบว่าแสงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้มแล้ว พยายามจับภาพพลางเสียดายโอกาส เพราะวิวด้านหน้าก็สวยใช้ได้ ทำได้แค่ถ่ายรูปตรงหน้าปั้มไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของท้องนาข้างถนนฝั่งโน้น แล้วก็ตัดสินใจรีบกลับไปเก็บข้าวของ แล้วขับรถออกมาจอดหน้าปั้มหาทำเลถ่ายรูป แต่ไม่ได้จุดที่ดีพอจึงทำได้แค่เดินข้ามถนนไปยืนถ่ายรูปตรงช่วงเกาะกลางถนน เพราะคิดว่าถ้ามั่วแต่หาจุดเลี้ยวกลับคงไม่ทันแล้ว เมื่อถ่ายรูปตรงนั้นเสร็จก็เดินทางต่อ รวมเวลาแล้วก็พักได้เกือบชั่วโมง ทางไกล เหมือนไม่ไกลเลยเมื่อใจยอมรับ

กรุงเทพเชียงใหม่ด้วยเส้นทางที่วางแผนไว้ ก็เกือบ 750 กิโลได้ ไม่ใช่ทางใกล้ ๆ ในการขี่มอเตอร์ไซค์วิ่งรวดเดียวให้ถึงที่หมาย แต่เมื่อผมถึงจุดหมายซึ่งเกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้มาก เพราะแวะถ่ายรูปหลายจุด อีกทั้งยังติดขัดในเรื่องของสภาพเส้นทางก่อนเข้าหมู่บ้านป่าบงเปียงที่แย่มาก (ผมได้สำรวจเส้นทางไว้ทั้งหมด 3 เส้นทาง จะอธิบายว่าควรไปเส้นทางไหน พร้อมแผนที่ My Map ของ Google ให้เห็นเส้นทางครับ จะได้สะดวกคนที่จะเดินทางไป ลิงก์นี้นะครับ) ผมรู้สึกว่ามันไม่นานอย่างที่คิด แต่เท่าที่นึกได้ อาจจะเป็นเพราะการขับขี่ช่วงกลางคืนที่ใช้เวลานานมาก ทำให้เหมือนเวลาผ่านไปเร็ว เพราะขับขี่อย่างเดียว เพราะถ้าขับขี่ช่วงฟ้าสว่างแล้วเหมือนหัวจะคิดนั้นคิดนี่ทำให้รู้สึกช้าไปด้วยซะละมั้ง

ป้ายเตือนให้เข้าโค้งตามเส้นทางที่คดเคี้ยง ผมดูแล้วรู้สึกขำนิด ๆ ในใจ เพราะมันป้ายชนป้ายไปตลอดระยะสายตาของถนนช่วงนี้เลย ในช่วงฟ้าสว่าง ยิ่งจุดที่ขับขี่อยู่ใกล้ภูเขา ใกล้ป่า ก็รู้สึกสบายใจ ถนนหนทางสวยงาม วิวที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน มันทำให้ผมรู้สึกดีใจ สบายใจมาก

ตามภูเขาแถวนี้จะมีไร่ข้าวโพดให้เห็นเยอะแยะ ไร่ข้าวโพดตรงนี้ไม่รู้ว่ามันสูง หรือเถียงไร่ตรงนั้นปลูกไว้เตี้ย ดูเหมือนเป็นธารของทุ่งข้าวโพดไหลตามเนินลงมาท่วมเถียงไร่เลย ก่อนจะถึงเชียงใหม่ พี่เจ้าของที่พักที่บ้านป่าบงเปียงโทรมาแนะนำว่า ให้เข้าทางแม่แจ่ม อย่าตาม GPS มาดื้อ ๆ จากกรุงเทพ เพราะจะเจอเส้นทางลำบาก แต่การสื่อสารไม่ค่อยต่อเนื่อง จับใจความได้แต่ว่าต้องไปทางอำเภอแม่แจ่ม ผมก็กำหนดจุดบังคับให้ GPS ไปลงที่ตัวเมืองอำเภอแม่แจ่มก่อน เมื่อถึงที่แม่แจ่มแล้วค่อยกำหนดจุดที่บ้านป่าบงเปียงอีกรอบ น่าจะใช้ได้ แต่หารู้ไม่ว่า ไม่ต่างกันกับการขึ้นมาทางจอมทองเลยถ้าไม่รู้เส้นทางที่ควรเข้า และปล่อยให้ GPS นำทาง

จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวไปบ้านป่าบงเปียง เส้นทางตาม GPS จะพาเราไปพบกับเส้นทางที่ลำบากที่สุด ส่วนเส้นทางที่แนะนำให้ไล่อ่านไปด้านล่าง ๆ ของบทความนี้ จะมีแนะนำไว้ครับ จะว่าไป GPS ไม่ได้ผิด เพราะเส้นทางมันก็เป็นเส้นทางที่ใช้เข้า แถมจุดที่วิ่งจากแม่แจ่มตรงนั้นยังมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวด้วยซ้ำ ยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่า ผมน่าจะมาถูกทางแล้วละ เส้นทางนี้น่าจะเป็นเส้นทางแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวใช่ไหม เปล่า ไม่ใช่เลย เส้นทางออกจากถนนหลวงเข้าถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านผ่านทางศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (พิกัด) นั้นก็จะพาไปยังถนนช่วงสุดท้ายก่อนถึงตัวหมู่บ้านป่าบงเปียงที่เป็นเส้นทางที่แย่ที่สุดในบรรดา 3 เส้นทางที่ผมสำรวจมาอยู่ดี และผมไม่รู้ ผมจึงไปตามนั้น เส้นทางช่วงแรกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวนั้นไม่ใช่ทางแย่เลย จัดว่าดีด้วยซ้ำสำหรับทางบนเขาบนดอย เพราะเป็นปูนซีเมนต์ที่ไม่ชำรุดเสียหาย ถึงจะแคบ และชันเป็นช่วง ๆ แต่ไม่ได้ลำบากเลย จนก่อนถึงหมู่บ้านป่าบงเปียง 2 – 3 กิโลเมตรสุดท้าย

ล้อหน้า

ล้อหลัง สภาพต่างออกไป เพราะมันปัดลื่น ไถลอยู่กับที่มาตลอดทาง ทางทั้งชัน โคลน หลุมลึก หลุมบางจุดไม่ใช่ร่องหลุมดิน แต่เป็นหินก้อนกลมขนาดตั้งแต่หัวคนจนเท่านิ้วก้อย หมายความว่าถ้าตกลงไปพร้อมกับยางที่ไม่ใช่ยางเฉพาะ แถมมีโคลนติดตามดอกยางจนเหมือนล้อเรียบ ๆ แล้ว ก็จะขึ้นได้ยากมาก

แน่นอน นอนเลยครับ แต่การล้มครั้งนี้ยกยากหน่อย แฮนด์ก็ปักลงไปในดินด้วย M-Slaz 150 cc. เท่านั้น แต่รถมีน้ำหนัก 130 กว่ากิโล ถือว่าไม่น้อย กับทางที่ชัน พื้นไม่เท่ากัน ผมล้มจนแฮนด์รถปักลงไปกับดินข้างพงหญ้าหลังจากที่ลุยขึ้นมาได้พอสมควร แต่เอารถขึ้นด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ เพราะจุดที่รถล้ม กับจุดที่เหมาะสมในการดันรถขึ้นนั้นมันไม่มีที่ยืน ไม่นับว่าเป็นทางชันเกือบ 45 องศาบนพื้นดินเละ ๆ ลื่น ๆ และไม่เท่ากันอีก

จำใจลา ทิ้งรถไว้ก่อน ให้มันได้พักบ้าง วิ่งมา 2 หมื่นกว่าโลแล้ว ว่าแล้วก็เอาเป้ใหญ่แบกขึ้นหลักพลางติดต่อที่พัก เพราะคิดว่าคงอีกไม่ไกลก็ถึงแหละ น่าจะหากันไม่ยากแล้วผมตัดสินใจโทรหาเจ้าของที่พักเพื่อขอความช่วยเหลือ และแพ็คเป้ใหญ่ตรงเบาะคนซ้อนขึ้นหลัง และเดินเท้าต่อ ปล่อยเจ้าดำ M-Slaz ของผมนอนเอกเขนกไปก่อนหลังจากที่เดินทางไกลมา ยางก็เบิร์นไปเมื่อสักพักเพราะตกร่องหินกว่าจะขึ้นมาได้ เดินขึ้นมาได้พักนึง ก็เจอพี่เจ้าของที่พักขี่มอเตอร์ไซค์แม่บ้านมาพร้อมกับเพื่อนชาวบ้านของเขาอีกคนลงมาช่วยผม กว่าจะจับรถตั้งได้ก็ต้องใช้แรง 3 คนยก เพราะ 2 คนยังยกแทบไม่ขึ้น และพี่อีกคนช่วยผมเข็นท้ายรถ ส่วนพี่เจ้าของที่พักเอาเป้ผมแพ็คหลังรถเขาขี่ตามมา ผมได้มารู้ทีหลังว่า พี่ที่ดันรถผม คอยประคองรถผมมาตลอดทาง โดยวิ่งตามนั้น ได้รับบาดเจ็บจากการมาช่วยผมตอนกำลังจะเดินแยกกัน เพราะตรงข้อเท้ามีเลือดออกไม่น้อย ซึ่งพี่ไม่ได้เอ่ยปากบอกใครเลย ผมก็คิดจะถามถึงตอนเจอกันที่บ้านพัก เห็นพี่เขาเดินแยกไป คิดว่าจะไปล้างเท้า สุดท้ายก็ไม่ได้เจอกันอีก เพราะพี่เขาไม่ใช่คนของบ้านพัก แค่เป็นคนรู้จักของพี่เจ้าของบ้านพัก ตั้งใจลงมาช่วยผม จะว่าไป ชาวบ้านที่นี่คุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวอย่างดี เพราะรถผมล้มลงอีกครั้งตอนอยู่แถวหน้าหมู่บ้าน ชาวบ้านในหมู่บ้านเห็น และได้ยินเสียงรถไม่คุ้น ต่างวิ่งกรูกันออกมาหลายคนเพื่อเข้ามาช่วยเหลือผม คือเขาวิ่งกันเข้ามาเหมือนแย่งกันช่วยเลยด้วยซ้ำ ซึ่งในวันถัดมาผมได้ยินเสียงรถยนต์ติดหล่ม ซึ่งเป็นรถของนักท่องเที่ยว ติดหล่มนานเป็นชั่วโมง ชาวบ้านวิ่งวุ่นหาเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยกันจนในที่สุดก็หลุดออกมาได้

ถนนหน้าที่พักที่ผมจะต้องจอดไว้แถวนี้ (ผมพักที่มาฉิโพ จะไม่มีที่จอดรถเฉพาะ แต่ก็ไม่มีรถวิ่งแถวนี้หรอกครับ แต่ถ้าเป็นที่บ้านระเบียงนา ป่าบงเปียง ที่นั้นจะมีพื้นที่ในอาณาเขตรอบ ๆ ให้จอดรถเป็นส่วนตัวได้) สำรวจ และแนะนำ 3 เส้นทางสู่บ้านป่าบงเปียง เส้นทางไหนดีสุด? ผมตั้งใจไว้แต่แรกแล้วว่าจะสำรวจเส้นทางให้ได้มากที่สุดเพื่อทำแผนที่เดินทางสู่บ้านป่าบงเปียงนำมาบอกต่อคนอื่น ๆ จริง ๆ แล้วมีรูปถ่ายเส้นทางจุดต่าง ๆ ไว้ด้วย แต่ไม่รู้ภาพหายไปไหนหมด – -’ น่าเสียดายมากถ้าสงสัยจุดไหนก็เข้ามาถามผมใน Page ‘บันทึกการเดินทางของข้าพเจ้า’ ก็ได้

เส้นทางที่ 1 – ผ่านหน่วยพิทักษ์น้ำตกแม่ปาน (เส้นทางแนะนำ ซึ่งชาวบ้านก็ใช้เส้นทางนี้เป็นหลัก)
เส้นทางที่ 2 – ผ่านวัดทุ่งยาว
เส้นทางที่ 3 – ผ่านสำนักงานเทศบางแม่แจ่ม (เป็นเส้นทางที่แย่ที่สุด เหมาะกับพวกอยากขี่รถลุย ๆ)

กรณีคุณขี่ หรือขับรถมาเอง เส้นทางที่ 1 คือเส้นทางแนะนำ แต่ถ้าอยากชมวิวหมู่บ้านอื่น ๆ ก็มาเส้นทางที่ 2 ได้ ถนนไม่แย่เท่าเส้นที่ 3 ที่เหมาะกับพวกออฟโรด ชอบวิบากมาก ๆ หน่อย แต่เส้นทางที่ 2 ก็ยังวิบากไม่น้อยในช่วงก่อนถึงตัวหมู่บ้านป่าบงเปียง เพียงแต่อยู่ในสภาพที่ไปไหวถ้าใจถึง จริง ๆ แล้วช่วงทางวิบาก ทางลำบากนั้นไม่ใช่ช่วงเส้นทางที่ยาวอะไร มันจะยาวแค่ประมาณ 2 – 4 กิโลเมตรเท่านั้นแหละ แต่ว่าช่วงวิบากของเส้นทางที่ 1 นั้นอยู่บนทางราบ น้ำขัง โคลนลื่น จึงถือว่าเป็นทางวิบากที่สะดวกที่สุด แต่ถ้าใครอยากขับรถมาเอง แล้วไม่ลุยเข้ามาก็สามารถมาจอดรถที่หน่วยพิทักษ์น้ำตกแม่ปาน (พิกัด https://goo.gl/maps/iri55t8B7yu) จากนั้นโทรบอกเจ้าของบ้าน (ควรโทรนัดกันแต่เนิ่น ๆ เพราะบางทีโทรติดยาก) ให้ส่งรถกะบะมารับ โดยมีค่าบริการ 700 บาท รวมพาเข้าและออกครับ ส่วนรถของคุณที่จอดไว้ที่หน่วยพิทักษ์ก็ไม่ต้องเป็นห่วง ล็อครถให้ดี ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทางชาวบ้านได้คุยกับทางเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ไว้แล้วว่าจะขอให้นักท่องเที่ยวได้จอดรถพักไว้ที่หน่วยได้

ถ้ามาจากจอมทอง ก็จะเห็นถนนแบบนี้ เราจะวิ่งมาตามถนนหลวงหมายเลข 1192 แล้วเจอทางแยกที่จะไปสู่หน่วยพิทักษ์น้ำตกแม่ปาน (https://goo.gl/maps/iri55t8B7yu) ซึ่งจุดนี้เราสามารถใช้ GPS กำหนดจุดมาที่หน่วยพิทักษ์ได้เลยครับ ไม่มีปัญหา ไม่หลง

แยกจากถนนหลวง ก็เป็นทางปูนซีเมนต์ กว้างประมาณ 5 เมตรเห็นจะได้ ทางจะเริ่มลาดชันไหลยาว ขอให้ขับขี่ระวังครับ เพราะถนนมีมอสขึ้นเขียว อาจจะทำให้ลื่นไถลได้

ก่อนถึงทางเข้าหน่วยพิทักษ์จะมีสะพานข้ามห้วย

ขี่ไปเรื่อย ๆ จะเจอทางแยก ขวาเป็นทางขึ้นไปน้ำตกแม่ปาน ส่วนซ้ายจะไปป่าบงเปียง จากจุดนี้ทางปูนจะหมดแล้ว แต่ก็เหลือระยะทางอีกไม่ไกลก่อนจะถึงหมู่บ้านป่าบงเปียง

จะเจอทางแยกตรงแถว ๆ สะพานข้ามห้วยอีกห้วย ซึ่งแยกซ้ายไปน้ำตกผาสำราญ แต่เราจะเลี้ยวขวาข้ามสะพานไป

สภาพถนนเป็นดิน และมีน้ำขังบางช่วงแอ่งใหญ่พอสมควร ระวังรถติดหล่ม มอเตอร์ไซค์อาจจะไถลได้ แต่ถนนแถวนี้ไม่ชัน ทำให้ไม่อันตรายอะไรครับ

ถึงหน้าหมู่บ้านป่าบงเปียงแล้ว ถ้าแยกไปซ้ายจะไปเข้าตัวหมู่บ้าน และไปที่บ้านระเบียงนา ป่าบงเปียง แต่ถ้าไปขวาจะไปมาฉิโพ ซึ่งก็อีกไม่เมตรก็ถึงทั้ง 2 ที่ละครับ บ้านป่าบงเปียง? หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวกระเหรี่ยงปกาเกอะญอ อยู่ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ด้านหลังดอยอินทนนท์ ความหมายของชื่อป่าบงเปียงมาจากลักษณะของพื้นที่ที่เป็นที่ราบ (คำว่าเปียง แปลว่าที่ราบ) ที่เคยเป็นป่าไผ่สายพันธุ์ที่เรียกว่า ‘บง’ มาก่อน แต่ปัจจุบันชาวบ้านที่มีเพียง 7 หลังคาเรือนนี้ทำไร่ ทำนา เลี้ยงควาย (หมู่บ้านอื่นจะเลี้ยงวัวกัน) และทำโฮมสเตย์ไว้รับรองนักท่องเที่ยวในช่วงหน้าฝน

เมื่อลงไปตามท้องนา มองย้อนกลับมาด้านบน จะเห็นแนวที่พักอยู่เป็นแถวไม่หนาแน่น ในท้องนาก็มีที่พักอยู่แค่ 2 – 3 หลังเท่านั้น 5 จาก 7 ครอบครัวของชาวบ้านป่าบงเปียงเท่านั้นที่ทำโฮมสเตย์ แต่ยังมีโฮมสเตย์อีก 2 ที่ที่มาจากชาวบ้านของหมู่บ้านใกล้ ๆ กันที่มีที่ดินในพื้นที่บ้านป่าบงเปียงมาทำด้วย สรุปรวมแล้วมีโฮมสเตย์รองรับ 7 แห่ง แต่ละแห่งก็มี 2 – 4 หลังคา แต่ไม่รกหูรกตา โฮมสเตย์แห่งแรกของที่นี่ชื่อ ‘มาฉิโพ’ เป็นภาษาพื้นบ้านแปลว่า ‘คนทำนา’ (เบอร์ติดต่อ 081-020-1691) สร้างเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จากคนหนุ่มที่เข้าไปเรียนในเมืองกลับมาทำโฮมสเตย์หลังเรียนจบเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มรู้จักนาขั้นบันไดของบ้านป่าบงเปียงเมื่อช่วง 5 ปีที่แล้ว

ที่พักมีรูปทรงหลากหลาย ส่วนใหญ่นอนได้ถึง 3 คนแบบไม่อึดอัด แต่ก็มีบางหลังเป็นหลักเล็ก ๆ นอนได้แค่ 2 คนก็มี จากนั้นก็ชาวบ้านก็เริ่มทำโฮมสเตย์กันจนครบ 7 แห่ง โดยแห่งที่ 7 ล่าสุดเป็นของเด็กหนุ่มจากหมู่บ้านตีนผาที่อยู่ใกล้ ๆ กับบ้านป่าบงเปียง ใช้ชื่อที่พักว่า ‘บ้านระเบียงนา ป่าบงเปียง’ (เบอร์ติดต่อ 080-794-6883) เรียนจบสายเกษตรกลับมาพัฒนา และสร้างโฮมสเตย์ที่ป่าบงเปียงโดยมีแนวคิดจะพัฒนาโฮมสเตย์เพื่อการท่องเที่ยวที่มีอะไรมากขึ้น เช่น ปลูกผักให้นักท่องเที่ยวเก็บมาทำกับข้าวได้เลย และมีโครงการทำพืชผล พืชดอกให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาร่วมกิจกรรมดูแลต้นไม้ด้วย

บ้านพักที่นี่จะมีการพูดคุยตกลงกันแล้วของชาวบ้านที่ทำโฮมสเตย์ โดยราคา และการบริการจะคล้ายกัน ราคาเหมือนกัน คือ เข้าพักคืนละ 500 บาท มีอาหารเช้า และเย็นให้ ส่วนบริการรถรับส่งจากบ้านพักไปที่หน่วยพิทักษ์น้ำตกแม่ปาน ไป-กลับ 700 บาท นั่งได้ประมาณ 6 คน บริการเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องลองพูดคุยว่ามีอะไรอีกหรือเปล่า อย่างของบ้านระเบียงนาป่าบงเปียงจะมีพืชผลให้เราเด็ดมาทำกับข้าว และมีพื้นที่โดยรอบกว้าง ทำปิกนิก หรือถ้าคุณมีเตามาด้วยก็ทำบาบีคิวกินได้เลย เพราะมีที่ทางกว้าวขวาง

ในหน้าฝน หน้าทำนา ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เราจะเห็นพื้นที่นาของที่นี่ส่วนใหญ่ลงต้นกล้าไปแล้ว แต่ก็จะมีที่นาบางจุดที่รอการลงกล้า ทำให้ช่วงนี้เหมาะที่จะมาเป็นอย่างมาก นอกจากจะเห็นต้นกล้าในท้องนาที่เต็มไปด้วยน้ำสะท้อนแสง สะท้อนก้อนเมฆ ยังได้เห็นวิถีชาวนาเขามาลงแขกดำนากันอีกด้วย ที่นอนจะมีให้ มีมุ้ง ผ้าห่ม และหมอน ตอนกลางคืนจะใช้เทียนหรือตะเกียงไฟฟ้า เพราะที่นี่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง (หมู่บ้านเดียวในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้) อันที่จริงแล้ว ป่าบงเปียงมีนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มเดินทางเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ก่อนหน้านี้ร่วม 20 – 30 ปีมาแล้ว แต่ถ้าจะค้างก็ต้องนอนกับชาวบ้าน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มเหล่นนั้นเป็นผู้ชื่นชอบการขับขี่รถวิบาก รถขับเคลื่อน 4 ล้อ เพราะถนนหนทางที่นี่โดยเฉพาะในสมัยนั้น เป็นทางวิบากมาก ก็คงจะสนุกของเขา แต่เห็นน้องบัติเจ้าของที่พักบ้านระเบียงนาบอกว่า ชาวบ้านไม่ได้ชอบใจนัก เพราะทำให้ถนนหนดทางพังหนักกว่าเดิม แต่ก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ปัจจุบัน ถนนหนทางดีขึ้นมาก และมีบริการรูปแบบต่าง ๆ ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวมากขึ้น แม้จะไม่สะดวก แต่ก็มีเสน่ห์ของที่นี่เอง นาขั้นบันไดคือพระเอกของที่นี่ เพราะผืนนาขั้นบันไดที่ต่อเนื่องกว้างใหญ่นั้นแหละ เช้า ๆ ก็จะมีหมอกในบางวัน บางทีก็เป็นทะเลหมอกเลย ซึ่งยังสามารถเดินทางไปชมนาขั้นบันไดของหมู่บ้านอื่น ๆ ได้อีกด้วยนะครับ สวยงามแตกต่างออกไป

ที่นี่ไม่ได้มีที่พักเบียดเสียด หรือแน่นจนเสียความงามของทิวทัศน์ มาเที่ยวป่าบงเปียง ควรมาเที่ยวช่วงไหน 3 ช่วงที่ผมวางแผนไว้ว่าปีนี้จะไปให้ครบทั้ง 3 ช่วงดังนี้

ช่วงดำนา นาน้ำ – กลางเดือนกรกฎาคม จนถึงปลายเดือน เราจะเห็นชาวนาปักต้นกล้าลงไปในท้องนาที่ยังเป็นน้ำ ทำให้มองเห็นเมฆสะท้อนอยู่ในท้องนา สวยงามมาก
ช่วงข้าวเขียว – ต้นเดือนกันยาเป็นต้นไป เป็นช่วงที่คนนิยมไปชมความงามของต้นข้าวในท้องนาที่อัดแน่น เขียวชอุ่มทั้งผืนนา
ช่างข้าวสีทอง – ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงเกี่ยวข้าว ตอนนั้นข้าวออกรวงเป็นสีทองไปทั่ว สวยงามไปอีกแบบ

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าช่วงหน้าร้อนจะไม่มีนักท่องเที่ยวมาชมนา แต่ว่าที่นี่อยู่บนที่สูงทำให้อากาศไม่ร้อน และมองเห็นได้ไกล ไม่มีไฟฟ้า กลายเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สามารถถ่ายดาวได้สวยงาม ไม่มีแสงมารบกวน

เช้าวันที่สองของที่นี่สำหรับผม (26 ก.ค. 2559) มีทะเลหมอกด้านหน้าหางออกไป ไม่มีหมอกมัว ๆ มาคลุมตัว การเตรียมตัว และข้อความระวังในการมาป่าบงเปียง หมวกกันแดด กันฝน แต่เน้นกันแดดนั้นแหละ เพราะฝนตกปอย ๆ ก็กันได้อยู่แล้ว เปียกหน่อยไม่เป็นไร เสื้อกันหนาว ถุงเท้า กางเกงขายาว ถ้าขี้หนาวมากก็เตรียมถุงมือมาด้วยก็ได้ ถึงแม้ว่าที่พักจะมีผ้าห่มมาให้ แต่ถ้าคุณขี้หนาวก็ควรมีติดมาไว้บ้าง

ในช่วงเช้าหลังจากที่นอนพักมา 1 คืน ผมตระเวณถ่ายรูปตั้งแต่ 06.00 น.เป็นต้นไป ขี่รถไปเรื่อย ๆ สำรวจเส้นทางเส้นที่ 2 และหามุมถ่ายรูปจากหมู่บ้านใกล้เคียง รองเท้าที่แห้งง่าย เพราะการเดินไปตามคันนา อาจจะลื่นไถล ตกลงท้องนาได้ไม่ยากเลย (วันที่ผมไปอยู่ 3 วัน 2 คืน มีคนตกท้องนาไป 5 – 6 คน บางคนตกวันนี้ พรุ่งนี้ตกซ้ำก็มี) อย่าเดินลงไปเหยียบท้องนาโดยไม่จำเป็น ถ้านายังไม่ได้ดำ ไม่ได้ปลักต้นกล้า จะทำให้ชาวนาดำนาไม่สนุก เพราะดินจะแน่นแตกต่างไปหลังจากเราเหยียบลงไป เขาจะเสียจังหวะการดำนา แต่ถ้านาดำแล้ว การไปเหยียบพื้นดินใกล้ ๆ ต้นกล้า อาจจะทำให้ต้นกล้าลอยน้ำ เพราะรากยังไม่ยึดดีพอ ทำให้เสียหาย โดยเฉพาะท้องนาแถวนั้น จะว่าไปแล้วเป็นท้องนาของคนหมู่บ้านใกล้เคียงซะเยอะด้วย ไม่ใช่ของคนในหมู่บ้านป่าบงเปียงอย่างเดียว

การออกมาตอนเช้า ๆ เราจะได้พบเห็นชาวบ้านเดินไปเดินมา หรือทำกิจกรรมทางการเกษตรได้ทั่วไป ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะยิ้มให้เราถ้าเรายิ้มให้เขา บ้างก็กล่าวทักทาย

ไม่แน่ใจว่าหลังคาที่เห็นเป็นบ้านพัก หรือเป็นแค่เถียงไร่ แต่ชาวบ้านคนนี้ต้องเดินขึ้นไปด้านบนซึ่งถือว่าชัน และไกลพอสมควรกว่าจะถึงถนนด้านบน ถ้าเป็นบ้านก็คงเดินขึ้นลงบ่อยมาก ๆ เลยละ คิดว่าน่าจะเป็นแค่เถียงไร่เสียมากกว่า ยากันยุง ยาแก้แพ้แมลง เตรียมไว้ ยาประจำตัวเตรียมให้พร้อม ที่นั้นไม่มีหมอ ต้องลงไปถึงตัวเมืองแม่แจ่มถึงจะมีสถานพยาบาล ถึงจะแค่ 10 กว่ากิโลก็ตาม

ถนนหนทางในเขตหมู่บ้านอื่น ๆ นั้นเป็นปูนซีเมนต์ที่มีสภาพค่อนข้างดี นาน ๆ จะเจอทางแย่ ๆ เล็กน้อยเท่านั้น ต่างกับถนนแถวบ้านป่าบงเปียงมาก ทั้ง ๆ ที่ระยะทางจากนี้ไปป่าบงเปียงแค่ 2 – 3 กิโลเท่านั้นเอง

เส้นทางตัวอย่างที่ชำรุดเสียหาย แต่ยังถือว่าขับขี่ไปได้ไม่ยาก ไม่ใช่ทางวิบากน่ากลัวอะไร ชาวบ้านใช้มอเตอร์ไซค์เป็นหลัก ยกเว้นว่ามากันหลายคน หรือมีของบรรทุกถึงจะใช้รถกะบะ ส่วนรถเก๋ง ผมไม่เห็นซักคัน ไฟฉาย และไฟส่องสว่าง ถ้าเน้นก็เน้นไปที่ไฟส่องสว่าง เพราะเราคงไม่ได้เดินไปไหนมาไหนข้างนอกเวลากลางคืนมากนัก แต่ไฟส่องสว่างแบบวงกว้างจะทำให้เราทำกิจกรรมตอนกลางคืนได้สะดวกขึ้น การทำอาหาร จุดไฟในที่พัก ต้องถามเจ้าของดูก่อนนะครับ ว่าทำได้ไหม เพราะมีไฟไหม้มาแล้วเนื่องจากนักท่องเที่ยวเนี้ยแหละ แต่ถ้าเป็นที่พักบ้านระเบียงนา ป่าบงเปียง สามารถมาจุดไฟ ทำบาบีคิวได้ แต่ก็ให้บอกเจ้าของที่ก่อน

พืชผล ผัก นาข้าว เราพบเห็นได้ตลอดเส้นทาง บางแปลงก็อยู่ติดถนนเลย

นาขั้นบันไดของหมู่บ้านตีนผา เหมาะอย่างยิ่งในการถ่ายแสงเช้า ยิ่งในวันที่มีหมอกลอยอยู่ด้านบนแล้ว ยิ่งให้อารมณ์ที่สวยงาม แสงแดดเลียท้องนาเป็นช่วง ๆ เป็นส่วน ๆ รู้สึกสบายตา อากาศไม่ร้อน ถึงจะโดนแดดก็ตาม แต่ผมก็หาที่หลบแดดอยู่ดี เพราะแค่นี้ก็เริ่มกร่านมากเหลือเกินแล้ว น้ำกิน น้ำใช้ เป็นระบบน้ำประปาภูเขา ใช้ท่อส่ง และมีการกรองแล้ว สะอาดใช้ได้ ร้านอาหาร ร้านของชำไม่มี เตรียมตัวให้พร้อมก่อนมาถึงหมู่บ้าน แบตเตอรี่สำรอง 2 ก้อนก็ดีถ้าคุณชอบใช้มือถือเป็นประจำ เพราะไม่มีปลั๊กไฟให้ใช้นะสัญญาณมือถือทั้ง True และ AIS เข้าถึงได้ แต่ DTAC ผมไม่ทราบ ไม่มีมือถือ และ SIM ให้ใช้ ถ้าทาง DTAC จะส่งมาให้ใช้ก็ยินดี

ที่ป่าบงเปียง ในวันที่ 26 ก.ค. 2559 ยังมีแปลงนาที่ยังรอการดำนาอยู่ บ่าย 2 กว่าวันนั้นผมก็แวะเวียนมาถ่ายรูปชาวบ้านที่มาลงแขกดำนา ได้ยินจากน้องบัติ เจ้าของโฮมสเตย์ บ้านระเบียงนา ป่าบงเปียงบอกว่า ที่นาตรงนี้แม้จะอยู่ในพื้นที่ของบ้านป่าบงเปียง แต่เจ้าของนาเป็นคนของบ้านตีนผา

ถึงจะเป็นหน้าฝน แต่ก็ไม่ได้มืดมนไปหมดทุกวัน คงต้องดูพยากรณ์อากาศให้ดีละครับ แต่ที่พักบางทีก็เต็มตลอดจนต้องจองล่วงหน้า ทำให้ต้องใช้ดวงกันเสียส่วนใหญ่เพื่อให้ได้เห็นวิวฟ้าเป็นสีครามแบบนี้ Wi-Fi ไม่มีบริการให้ใช้นะครับบบนั้น ไฟฟ้ายังไม่มีเลยทอาหารแห้ง ขนม ซื้อไว้เผื่อกินอาหารไม่ถูกปาก จะได้ไม่ต้องอารมณ์เสียเพราะหิว

แต่หน้าฝนก็คือหน้าฝน แต่กับท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ บางทีก็มีฝนตกลงมาทั้งที่ปลายฟ้ายังเป็นสีฟ้าครามอยู่

3 คนนี้จับกลุ่มคุยกัน แล้วกลางพลาสติกกันฝนทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ก็ตัวเปียก ในขณะที่คนอื่น ๆ กำลังดำนาอยู่ใกล้ ๆ จะว่าไปมองแล้วก็เหมือนเขาเข้ากลุ่ม Facebook Group นั่งคุยกันอยู่ในกลุ่มเหมือนกันนะ กล้อง และขาตั้ง ได้ใช้แน่ แต่ควรจะหาถุงพลาสติกใส่กล้อง เลนส์ และมัดปากถุง พร้อมทั้งใส่กระเป๋าไว้อีกที ถ้าเดินตกท้องนา ยังพอจะจับชูขึ้นเหนือน้ำได้ทัน ไม่เปียกจนเสียหายเสียก่อน หน้ายิ้ม ๆ กับใจที่เปิดกว้าง ที่นี่สดชื่น สนุก บรรยกาศดี อาหารกินได้อิ่ม มันไม่ได้ลำบากอะไรขนาดชีวิตบัดซบ มันแค่ไม่สะดวกเท่านั้น แต่ในความไม่สะดวกมันคือเสน่ห์ของที่นี่อย่างหนึ่ง ลองถ่ายภาพสวย ๆ ไปอวดเพื่อนดูครับ หมอก เย็น เต็มอุ่ม สงบ เขียว สบายตา ไมตรีจิต กินอิ่ม นอนหลับ ถ่ายคล่อง แล้วจะไม่สุขได้อย่างไง

มิตรภาพที่ได้จากที่นี่ ทั้งจากชาวบ้านที่เข้ามาช่วยผมเข็นรถขึ้นเขาจนตัวเขาเองได้รับบาดเจ็บเลือดออกเยอะพอสมควรโดยไม่ปริปากบอกผมแม้ซักคำ (ผมมารู้ตอนหลังตอนเขาวิ่งจากไปแล้ว) รวมไปถึงน้องบัติที่เป็นนักศึกษาที่กลับมาพัฒนาพื้นที่บ้านเกิด ได้คุยกันอยู่นาน และรู้ถึงความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาการท่องเที่ยวของที่พักของตัวเองให้ดีขึ้น

บนก็เมฆ ล่างก็หมอก เราอยู่เหนือผิวน้ำ นั่งบนเถียงนาที่ทำที่นั่งพักให้นักท่องเที่ยวได้นั่งชิว ไม่ต้องคิดอะไรมาก ดูก็รู้ว่าสบายใจได้แค่ไหนที่มานั่งตรงนี้

การเดินตามคันนา บางครั้งก็ยากซักหน่อย ผมเห็นคนตกลงไปในท้องนาทั้งแบบไถลลงไปแค่ขา และแบบหล่นตูมลงไปเลยก็มี ในภาพคุณแม่ก็พยายามจะช่วยลูกสาวที่ตกใจเพราะไถลลงมาในท้องนา ส่วนคุณพ่อกำลังวิ่งมาให้ถึงเพื่อช่วยทั้ง 2 คนให้เร็วที่สุดจนตัวเองก็ไถลตกลงไป แม้ไฟฟ้าจะไม่มี ถนนหนทางยังไม่ดีมาก แต่ก็เป็นเสน่ห์ที่เปิดใจแล้วก็พบว่ามันไม่ได้ลำบากอะไรขนาดนั้น ต่อให้เป็นลูกคุณหนูก็ยังสามารถมาได้โดยติดต่อให้ชาวบ้านมารับ ทนนั่งรถรขโยกขเยกซัก 15 นาทีก็ถึงที่หมายแล้ว เทียบกับสิ่งที่ได้ ดาวที่เห็น อากาศที่ได้สูด อาหารที่ได้กิน มิตรภาพที่ได้รับ ได้นั่งคุย และดูชาวนาดำนา เปลี่ยนบรรยากาศที่เคยเห็นเพื่อนร่วมงานทำงานในออฟฟิต ผมว่ามันคุ้มมาก

แสงสุดท้ายที่โผล่มาให้เห็นแว๊บเดียว ไม่เกิน 10 นาที ถือเป็นโชคดีแล้วที่ได้เห็นแสงเย็นของที่นี่ เราได้อย่าง ก็เสียอย่าง อยู่ที่ว่าได้มาในสิ่งที่คุ้มค่า เปิดใจรับมันแค่ไหน และที่สำคัญ เราจะรักษ์มันไว้ได้เหมาะสม และยั่งยืนแค่ไหน อย่าลืมถึงการพัฒนาในทางที่เหมาะสมด้วย ภาพด้านล่างนี้ทั้งหมดเป็นภาพในพื้นที่ หรือจากพื้นที่ของบ้านของน้องบัติ ที่เปิดโฮมสเตย์ที่ชื่อว่า ‘บ้านระเบียงนา ป่าบงเปียง’ ซึ่งถึงแม้ผมจะไม่ได้ไปพักกับเขา แต่ก็เชื้อเชิญขึ้นไปคุยบนบ้าน และให้ถ่ายรูปอยู่นานเป็นชั่วโมง ๆ (เบอร์ติดต่อ 080-794-6883)

จากเฉลียงหน้าห้องพักของบ้านระเบียงนา ป่าบงเปียง จะเห็นลูกสนที่น้องบัติเอามาห้อยไว้ เขาบอกว่าถ้าโดนแดดมันจะหุบ แต่พอโดนฝนมันจะบานออก เอ่ หรือผมจับสลับกันนะ

จากที่พักบ้านระเบียงนา ป่าบงเปียง มองไปที่นาขั้นบันไดจะได้อีกมุมของนาขั้นบันไดป่าบงเปียง เพราะเป็นมุมที่สูงที่มองเข้าหานา

มองไกลออกไปเห็นทุ่งข้าวโพด และอื่น ๆ ตามเนินเขา ซึ่งด้านหลังเนินนั้นคงเป็นหมู่บ้านตีนผา

ผักสวนครัว น้องบัติปลูกไว้ นักท่องเที่ยวเลือกเด็ดมากิน มาทำอาหารได้ตามสะดวก

เฉลียงหน้าห้องนอน ยามเย็น แสงสาดมา ดูชิวดีเหลือเกิน 

ผักที่ให้เราเด็ดมาใช้ มากินไม่ได้มีแค่ 1 – 2 อย่าง แต่มีหลายอย่างมาก

ฟักทองยังมี น้องบัติเล่าให้ฟังว่า ชาวมุสลิมก็นิยมมาพักบ้านเขา เพราะสามารถเด็ดผักมาทำเองได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาชนะ เพราะเขาจะเตรียมภาชนะของเขามาเองเลย

ป้ายของที่พักที่นั้น ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เข้าพัก แต่ก็รู้สึกว่าน้องบัติเป็นคนตั้งใจดี มีหัวคิดพัฒนาพื้นที่ เพิ่งเปิดให้บริการไม่นานทำให้คนยังไม่ค่อยรู้จัก อยากช่วยเท่าที่จะทำได้ครับ

 

ขอบคุณทริปรีวิวจากสมาชิกพันทิปคุณบันทึกการเดินทางของข้าพเจ้า
และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆได้ที่ Facebook/บันทึกการเดินทางของข้าพเจ้า

 


ผู้เขียน

admin tripgether
สัญญาว่าจะเที่ยวให้ดีที่สุด!!

เรื่องที่คุณอาจสนใจ